สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1(สพม.1) รับคณะติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” จากสำนักติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ประกอบด้วย นายประไพ สุนทรมัจฉะ ข้าราชการบำนาญ และนายอรุณ พรหมจรรย์ สำนักติดตามและประเมินผล สพฐ. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องประชุมเพชรเกษม สพม.1 โดยมีว่าที่ร้อยตรี อานนท์ สุขภาคกิจ ผอ.สพม.1 พร้อมด้วย รองผอ.สพม.1 และศึกษานิเทศก์ ร่วมรายการงานดำเนินการตามนโยบายฯ  โดยครั้งนี้ ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนนำร่อง ในสังกัด สพม.1 จำนวน 2 โรงเรียน คือโรงเรียนวัดนวลนรดิศ และโรงเรียนโพธิสารพิทยากร

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 ได้เริ่มดำเนินการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”  ในโรงเรียนนำร่องจำนวน 22 โรงเรียน  ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558  โดยมีการบริหารจัดการในระดับ เขตพื้นที่การศึกษา  และระดับสถานศึกษา 

ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา   ได้สร้างความเข้าใจในการนำนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” สู่การปฏิบัติแก่ผู้บริหาร  ครู  และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  แต่งตั้งคณะทำงานระดับเขตพื้นที่การศึกษา  ประกอบด้วย  ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่  ประธานกลุ่มโรงเรียน 6 กลุ่ม  ผู้บริหารโรงเรียนนำร่อง  และศึกษานิเทศก์ทุกคน  เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบาย           พร้อมทั้งพัฒนาทีมผู้นำการนิเทศ  Smart Trainer จำนวน 2 ทีม 6 คน  และนำมาพัฒนาทีมศึกษานิเทศก์ทุกคนให้เป็นผู้นิเทศตามนโยบายดังกล่าว  โดยจัดทีมนิเทศจำนวน 6 ทีม  แต่ละทีมประกอบด้วย รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่  เป็นประธาน  และศึกษานิเทศก์ประสานงานกลุ่ม จำนวน 2 – 4 คน  เป็นกรรมการ และ ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้ง 22 โรงเรียน  เพื่อสรุปผล การเตรียมการก่อนเปิดภาคเรียน  และกำหนดปฏิทินการนิเทศร่วมกัน  โดยทุกโรงเรียนจะได้รับการนิเทศ2 ครั้ง/เดือน และทำผลการปฏิบัติงาน (AAR) พัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมสรุป  รายงานผล สพฐ. 

ระดับสถานศึกษา  ได้ดำเนินการประชุมสร้างความเข้าใจการนำนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” แก่ครู นักเรียน และผู้ปกครอง  ปรับตารางเวลาเรียนให้เหมาะสมกับการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” พร้อมทั้ง เลือกกำหนดกิจกรรม  เพิ่มเวลารู้  ให้ตอบสนองความสนใจ  ความถนัด  ความต้องการของผู้เรียน  และบริบทของสถานศึกษา  ครอบคลุม 4 หมวด ( 4 H)  ได้แก่  (1) กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (2) กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้  (3) กิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม  (4) กิจกรรมเสริมทักษะ  การทำงาน  การดำรงชีพ  และทักษะชีวิต  ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ตามตารางเรียนที่กำหนด นำผลการนิเทศ  ติดตาม  และประเมินผลการดำเนินงานไปพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสรุปรายงานผลต่อ สพม.1

โรงเรียนนำร่องทั้ง 22 โรงเรียน มีตารางเวลาเรียนชัดเจน เป็นไปตามความพร้อมและบริบท อาทิ ลักษณะโรงเรียน อัตราการแข่งขัน ขนาดโรงเรียน ครู และสถาน แหล่งเรียนรู้ เป็นต้น  โดยจัดกิจกรรมใน 2 ลักษณะ คือ กิจกรรมที่โรงเรียนกำหนด และกิจกรรมตามความต้องการของนักเรียน ซึ่งมีกิจกรรมจำนวนมาก จาก 22 โรงเรียนนำร่อง ประมาณ 1,000 กิจกรรม ซึ่งครอบคลุมทั้ง 4 H  โดยกิจกรรมได้มาจากการต่อยอดความรู้ในรูปแบบชุมนุม ชมรม รายวิชาพื้นฐาน และรายวิชาเพิ่มเติมใช้แหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนในระยะเริ่มแรก ซึ่งโรงเรียนและผู้นิเทศกิจกรรมต้องสร้างความชัดเจน ให้ครูมีความสุขในการจัดกิจกรรมและเห็นประโยชน์ที่เกิดกับนักเรียน โดยได้รับการสนับสนุน จากสถานบันการศึกษาภายนอก ผู้ปกครอง สมาคมศิษย์เก่า และปราชญ์ท้องถิ่น ให้ความรู้แก่นักเรียน

ผลตอบรับในการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ผู้ปกครองของนักเรียนที่เป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ยังมีความกังวล จะกระทบกับการเรียนในวิชาหลัก ในการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความเข้าใจ และพึงพอใจ ทำให้นักเรียนมีเวลาทำกิจกรรมตามความสนใจ ทำให้นักเรียนผ่อนคลาย

สำหรับครู ส่วนใหญ่มีความพร้อมในการจัดกิจกรรมแต่มีบางส่วน มองว่าเป็นการเพิ่มภาระ ในการรายงาน

ส่วนนักเรียน โดยส่วนใหญ่มีความพอใจ เพราะได้ทำกิจกรรมตามความถนัดและความสนใจ

 

อัลบัมภาพ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพม.1

***************************************

ติดตามข่าวสารการศึกษา เพิ่มเติมได้ที่ 

เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ สพม.1

https://www.facebook.com/groups/prsesao1

email ผู้ดูแลเว็บไซต์ : [email protected]