สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการตามนโยบายโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจรประจำปีงบประมาณ 2561 โดยมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 แต่งตั้งคณะกรรมการ ติดตามและประเมินผลโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร และหน่วยพัฒนาครู โดยในวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ดร.ธนารัชต์ สมคเณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1(รองผอ.สพม.1) พร้อมคณะได้ออกตรวจเยี่ยมติดตามและประเมินผลหน่วยพัฒนาครู ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์  3 หน่วยพัฒนา  ได้แก่ 1. หลักสูตร การเพิ่มศักยภาพการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญที่จำเป็นของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 : ความท้าทายสำหรับครูชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 2. หลักสูตรการเพิ่มศักยภาพการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญที่จำเป็นของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และ 3. หลักสูตรการสร้างสรรค์ลีลาท่ารำ สำหรับครูนาฏศิลป์ ระดับประถมศึกษา  ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร

รองผอ.สพม.1 กล่าวว่า ตามที่ได้ออกเยี่ยมหน่วยพัฒนามีความพร้อม ในการจัด ผู้เข้าอบรมมีความสุขในการอบรม ในเขตกรุงเทพมหานครไม่มีปัญหาใดๆ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 ก็จะได้ติดตามกันต่อไป

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรแก้ว ใจงาม(วิเศษ) หัวหน้าหน่วยพัฒนาครู กล่าวว่า  ในหลักสูตรต่างๆ มีความตั้งใจพัฒนาคุณภาพในส่วนที่ครูพึงจะได้รับประโยชน์จากการสละเวลามาพัฒนาตนเอง หน่วยพัฒนาพยายามให้เกิดการนำความรู้และทักษะที่เกิดขึ้นในการอบรมไปสู่การพัฒนาในห้องเรียนจริงของคุณครู ก็มีการทดสอบก่อนและหลังเรียน และเตรียมการติดตามผลหลังการอบรม ว่าคุณครูมีการเติมเต็มพัฒนาต้นเองไปสู่การปฏิบัติจริงให้ห้องเรียนอย่างไร โดยประสานงานกับสถานศึกษา เพื่อสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และสุ่มประเมิน ทั้งนรี้วิทยากรในการอบรมเป็นผู้มีความรู้ประสบการณ์ มาถ่ายทอดให้กับผู้อบรม หวังว่าจะเติมเต็มความรู้ และศักยภาพของครู  ทำให้สามารถจัดการเรียนรู้ และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ที่เป็นเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทย

อาจารย์ สุคนธ์ สินธพานนท์ วิทยากรหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญที่จำเป็นของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า ครูที่เข้าอบรมจะได้พัฒนาตนเอง ทั้งทักษะและประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ศิษย์ สิ่งสำคัญที่ครูสังคมศึกษาควรจะเข้าใจ คือการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของกลุ่มสาระ นอกจากนั้นยังต้องคำถึงถึงทักษะที่สำคัญสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ว่าจะนำไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไร เน้น Active Learning ครูจะต้องให้ความสำคัญต่อเด็กๆ กิจกรรมต่างๆต้องให้เด็กได้สร้างสมประสบการณ์ความรู้ด้วยตนเอง และสามารถจะสร้างองค์ความรู้ของตนเองได้ นำสิ่งที่ได้รับไปใช้ในการดำรงชิวิต และมีส่วนในการพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมที่มีความสุข

นางสาวสุจริตา แสงงาม ครูสอนนาฏศิลป์ โรงเรียนเทพลีลา สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร เล่าว่า ได้มาอบรมหลักสูตรการสร้างสรรค์ลีลาท่ารำ สำหรับครูนาฏศิลป์ ระดับประถมศึกษา สถานที่ในการจัดอบรมอยู่ในพื้นที่ใกล้โรงเรียน ทำให้เดินทางสะดวก ในการสร้างสรรค์ท่ารำ จะต้องนำไปใช้ในโรงเรียนอยู่แล้วในการแสดงวันสำคัญต่างๆของโรงเรียน จะต้องการสร้างสรรค์ คิดท่ารำ อยู่เสมอ และไม่ซ้ำกันในการแสดงในโอกาสต่างๆ โดยวันนี้ได้เรียนรู้ และจะนำความรู้ไปประยุกต์ในการพัฒนาท่ารำให้กับนักเรียนที่โรงเรียนของตน ซึ่งการอบรมครั้งนี้มีประโยชน์มากโดยทั่วไปแล้วหาหลักสูตรการอบรมได้ยาก จึงอยากให้มีการจัดโครงการแบบนี้ในทุกๆปีเรื่อยๆ และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูนาฏศิลป์ พร้อมทั้งเชื่อมความสัมพันธ์ เกิดชุมชนการเรียนรู้ในการทำงานอีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ คงสว่าง ครูสอนสังคมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 กล่าวว่า ได้อบรมในหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญที่จำเป็นของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถนำความรู้จากหลักสูตรนี้ไปพัฒนานักเรียนที่สอนได้ หลักสูตรในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาหลักสูตร บางสาระวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ส่วนในการเรียนในศตวรรษที่ 21 มี3R 8E ซึ่งนำไปประยุกต์ในการทำแผนการจัดการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมต่างๆให้กับนักเรียนในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย อยากจะมีการจัดการอบรมต่อไปในอนาคตและเรื่องต่างๆเพิ่มมากขึ้น และเหมาะสำหรับผู้เข้าอบรมในรอบต่อๆไป

นางสาวสุรัสดา เปล่งศรี ครูสอนภาษาไทย โรงเรียนศึกษานารีวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 กล่าวว่า ได้เข้าอบรมในหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญที่จำเป็นของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 : ความท้าทายสำหรับครูชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็น เนื่องจากนักเรียนจะไม่ได้อยู่ในห้องเรียน และตำราอีกต่อไป ครูไม่ได้มีแค่บทบาทในหน้าที่สอน แต่ต้องเป็นผู้จัดการในชั้นเรียน และอำนวยความสะดวกต่างๆในการเรียนการสอน การอบรมครั้งนี้เป็นประโยชน์ เพื่อจะนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน เป็นการสอนที่ทำให้นักเรียนมีความสุข ควบคู่ความสนุกในการเรียนเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ในศักยภาพที่แตกต่างกัน อยากให้มีการอบรมอีก เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของครูผู้สอน ซึ่งจะส่งผลกับการเรียนรู้นักเรียนที่มีคุณภาพ นำไปพัฒนาประเทศต่อไป

อัลบัมภาพ

ติดตามข่าวสารการศึกษาเพิ่มเติมได้ที่  เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ สพม.1 :
https://www.facebook.com/groups/prsesao1

 
 
 
email ผู้ดูแลเว็บไซต์ : [email protected]