เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ณ หอประชุมสุพรรณิการ์ โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1(สพม.1) กรุงเทพมหานคร นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.)  เป็นประธานเปิด  กิจกรรม “สิงหาคม เดือนแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” “การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ (Historical Thinking) ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย”โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม และโรงเรียนในกลุ่มที่ 3 ของ สพม.1 ร่วมกิจกรรม กว่า100 คน ซึ่งได้รับเกียรติจากว่าที่ร้อยตรี อานนท์ สุขภาคกิจ ผอ.สพม.1 เป็นผู้กล่าวรายงาน

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าเนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2551 ห่วงใยการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับใส่เกล้าฯ นำไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยกำหนดให้สถานศึกษาทุกระดับให้ความสำคัญจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดเป็นวิชาประวัติศาสตร์ สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง

เพื่อแสดงถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและน้ำพระราชหฤทัยในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 กระทรวงศึกษาธิการได้แสดงความจงรักภักดีด้วยการกำหนดให้เดือนสิงหาคม เป็นเดือนแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดกิจกรรม “สิงหาคม เดือนแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙ “การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ (Historical Thinking) ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย”

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. โดย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาได้จัดทำเอกสาร แนวการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์แบบนักประวัติศาสตร์ (Historical Thinking) ผ่านการลงมือปฏิบัติกิจกรรม ที่มีเนื้อหาปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดความภูมิใจและรักชาติไทย ตามจุดเน้นการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ 5 หัวข้อ ได้แก่ 1) ความเป็นมาของชาติไทย 2) สัญลักษณ์ของชาติไทย 3) สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย 4) บรรพบุรุษไทย 5) วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย อีกทั้งการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยตามแนวการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย”นี้ ถือเป็นการพลิกโฉมการจัดการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ ที่เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้จากเอกสาร ตำรา หรือการท่องและจดจำตามคำบอกเล่าของครู เป็นการลงมือปฏิบัติกิจกรรมที่ผู้เรียนจะได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์แบบนักประวัติศาสตร์ (Historical Thinking) เช่น การสืบค้น สำรวจและรวบรวบข้อมูลหลักฐาน การอ่านข้อมูลหลักฐานอย่างพินิจพิเคราะห์ การตีความและวิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานตามขั้นตอนและวิธีการเชิงประวัติศาสตร์ การประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลหลักฐาน การอธิบายเหตุและปัจจัย เชื่อมโยงสถานการณ์ เพื่อเข้าใจพัฒนาการและความเสื่อมถอยจากบริบทในอดีต นำมาเป็นบทเรียนต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน

ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มอบนโยบายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาและโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา จำนวน ๗๘ โรง ใน ๗๗ จังหวัด ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่นี้ โดยจัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กว่า 9,000 คน ภายในเดือนสิงหาคม 2559 เรียบร้อยแล้ว ดั่งตัวอย่างโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 ได้ดำเนินการในวันนี้ (30 สิงหาคม 2559) ทั้งนี้ จะมีการขยายผลการจัดกิจกรรม “การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ (Historical Thinking) ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ให้แก่สถานศึกษาทั่วประเทศภายในปีงบประมาณ 2560

ขอขอบคุณข้อมูลจากศูนย์สารนิเทศการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.

ขอขอบคุณภาพจาก งานโสตน์ โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม สพม.1

*****************************************************************

ติดตามข่าวสารการศึกษาเพิ่มเติมได้ที่  ครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ สพม.1 : https://www.facebook.com/groups/prsesao1

email ผู้ดูแลเว็บไซต์ : [email protected]