เมื่อวันที่ 30  พฤศจิกายน พ.ศ. 2563  ผอ.สมใจ วิเศษทักษิณ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 พร้อม นายถนอม บุญโต รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 และคณะ ติดตาม ตรวจเยี่ยมพบเพื่อนครูเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงประทานโฉนดที่ดินในประปรมาภิไธย เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา ให้แก่โรงเรียนโดยขอให้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง "พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน" บนเงื่อนไข "ความรู้" และ "คุณธรรม"มาใช้ รวมทั้งทั้งน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้านมาปฏิบัติ  ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ​ โรงเรียนราชวินิตมัธยม

          เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนโดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในขณะเดียวกัน บางสื่อตั้งคำถามถึงการยกย่องขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งความน่าเชื่อถือของรายงานศึกษาและท่าทีขององค์การ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง ที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ทั้งนี้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้สามารถอยู่ได้แม้ในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงปรับปรุงพระราชทานเป็นที่มาของนิยาม "3 ห่วง 2 เงื่อนไข" ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยความ "พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน" บนเงื่อนไข "ความรู้" และ "คุณธรรม"

           พระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน 1.มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ข้อนี้มีคำขยายว่า ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่มีต่อชาติบ้านเมือง ยึดมั่นในศาสนา มั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีความเอื้ออาทรต่อครอบครัวและชุมชนของตน 2.มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม ข้อนี้มีคำขยายว่า ให้รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด-ที่ถูก สิ่งชั่ว-สิ่งดี เพื่อปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบที่ดีงาม ปฏิเสธสิ่งที่ผิดที่ชั่ว เพื่อสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง 3.มีงานทำ มีอาชีพ ข้อนี้มีคำขยายว่า ต้องให้เด็กรักงาน สู้งาน ทำงานจนสำเร็จ อบรมให้เรียนรู้การทำงาน ให้สามารถเลี้ยงตัวและเลี้ยงครอบครัวได้ 4.เป็นพลเมืองดี ข้อนี้มีคำขยายว่า การเป็นพลเมืองดีเป็นหน้าที่ของทุกคน สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่พลเมืองดี การเป็นพลเมืองดีหมายถึงการมีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร ต้องทำงานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ “เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ”พระบรมราโชบายทั้งหมดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินกว่าครูจะทำและสั่งสอนศิษย์ให้ทำได้ หากครูตั้งใจสร้างศิษย์ให้ได้ผลตามพระบรมราโชบายทั้ง 4 ข้อนี้ก็จะทำให้ชาติบ้านเมืองเจริญ ไม่มีคนที่นิ่งดูดายปล่อยให้เกิดความชั่ว ความไม่ดีในบ้านเมือง ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การรู้จักแยกแยะสิ่งที่ถูกที่ผิด สิ่งที่ดีที่ชั่ว และเลือกรับเลือกทำแต่ทางที่ถูกที่ดี เด็กไทยควรรู้จักใช้วิจารณญาณของตน ไม่ตามแฟชั่นตามสังคมโดยไร้สติ. อีกประการหนึ่งที่ควรน้อมนำมาใส่เกล้าฯ คือ พระบรมราโชบายที่ว่า เห็นอะไรที่ควรทำเพื่อบ้านเมืองก็ต้องทำ คนไทยเห็นอะไรที่ควรทำเพื่อบ้านเมืองก็ต้องลงมือทำ ไม่ปล่อยให้ผ่านไปด้วยความคิดว่า “ธุระไม่ใช่”

ดาวน์โหลดภาพข่าว/กิจกรรม สพม.1 ที่ :::  https://photos.app.goo.gl/bjzqS28z2c8pHR9aA

ติดตาม facebook เครือข่าย ปชส.สพม.1 ที่ ::: https://www.facebook.com/groups/prsesao1/permalink/3352248024886346/

 

email ผู้ดูแลเว็บไซต์ : [email protected]