นายสายัณห์ รุ่งป่าสัก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1   ร่วมพิธีมุฑิตาคารวะ ณ โรงเรียนโพธิสารพิทยากร เนื่องด้วยท่านเป็นอดีตผู้อำนวยโรงเรียนโพธิสารพิทยากร และเป็นผู้มีคุณูปการต่อโรงเรียนโพธิสารพิทยากรอย่างสูงยิ่ง เมื่อวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2556 ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ โรงเรียนโพธิสารพิทยากร โดยมีนางเบญญาภา คงรอด ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิสารพิทยากร ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู นักเรียน และบุคลการของโรงเรียน รวมทั้งศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครอง และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมในพิธี


นายสายัณห์ รุ่งป่าสัก ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิสารพิทยากร ในปีพุทธศักราช 2529-2538 โดยในช่วงที่ท่านเข้ามารับตำแหน่งนั้นโรงเรียนโพธิสารพิทยากร มีครู 16 คน ภารโรง 3 คน พนักงานขับรถ 1 คน มีนักเรียนเพียง 7 ห้องเรียน  เพียง 197 คนเท่านั้น โรงเรียนตั้งอยู่กลางทุ่ง ไม่มีรั้วรอบขอบชิดทั้งด้านหน้าและด้านข้างที่ติดกับวัดโพธิ์ซึ่งจะมองเห็นรถวิ่งผ่านหน้าโรงเรียนได้อย่างสบาย วันไหนฝนตกสนามหน้าโรงเรียนก็จะมีน้ำขังกลายสภาพเป็นทุ่งนา

ขณะนั้นโรงเรียนนี้มีปัญหาผู้ปกครองยังไม่ศรัทธาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน ผอ.สายัณห์ ได้วางแผนพัฒนาโรงเรียน และคุณครูขณะนั้นก็ต้องสร้างโรงเรียนใหม่ สร้างความรู้สึกใหม่ให้เกิดขึ้นในความรู้สึกนึกคิดของชุมชนโดยรอบโรงเรียนและสังคมภายนอกทั่วๆไป  ซึ่งในการทำงานได้รับคำแนะนำ กำลังใจ จากผู้บังคับบัญชาทุกท่านเป็นอย่างดี เหมือนกับว่าผอ.สายัณห์ เป็นแม่ทัพที่ทางกรมสามัญศึกษาส่งมาให้ตีเมืองและสร้างเมืองใหม่ทันที ความพร้อมนั้นไม่ต้องพูดถึง มีแต่ใจและความคิดเท่านั้นที่สู้และก้าวนำทุกคนให้เดินหน้าในการพัฒนาโรงเรียนทุกด้าน ทั้งที่ ในขณะนั้นโรงเรียนทั้งโรงมีเงินเหลืออยู่ 6 บาทเท่านั้น

ต่อมากรมสามัญศึกษาได้อนุมัติ “โครงการให้ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษาทางด้านวิชาการ” โดยให้ 3 โรงเรียนมาช่วยโรงเรียนโพธิสารพิทยากร คือ

          1. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รับผิดชอบวิชาวิทยาศาสตร์ ภาษาไทย พลานามัย และช่วยปรับปรุงห้องสมุด

          2. โรงเรียนสตรีวิทยา รับผิดชอบหมวดวิชาภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ และงานแนะแนว

          3. โรงเรียนวัดน้อยใน รับผิดชอบหมวดวิชาศิลปศึกษา ศิลปปฏิบัติ และอาคารสถานที่

               ในการดำเนินงานขณะนั้น ได้รับความร่วมมือ ความเมตตาอย่างดียิ่งจาก ผอ.สุทธิ  เพ็งปาน ผอ.โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย  ผอ.สมหมาย  เอมสมบัติ  ผอ.โรงเรียนสตรีวิทยาและผอฺสมพงษ์  พูลสวัสดิ์ ผอ.โรงเรียนวัดน้อยใน

 

โดยโรงเรียนสวนกุหลาบฯ และสตรีวิทยา ส่งนักเรียนที่สอบเข้าชั้น ม.1 ได้ตัวสำรองมาเรียนที่นี่ แล้วใช้ข้อสอบโรงเรียนพี่ใน 6 หมวดวิชา และเมื่อได้คะแนนเฉลี่ย 5 ภาคเรียน 2.50 ขึ้นไป และความประพฤติดีจะได้รับคัดเลือกให้เรียนต่อ ม.4 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ และสตรีวิทยา โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2530 ปรากฏว่า รับสมัครนักเรียนได้เกินแผนที่กำหนดจนทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนสถานที่เรียน โรงเรียนได้แก้ปัญหาสถานที่เรียนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 โดยสร้างอาคารชั่วคราว 4 ห้อง เต็นท์ 4 หลัง อาคารมุงจาก 1 หลัง และเพิ่มเติมเป็น 5 หลัง ในปีต่อๆ มา คือจากนักเรียน 197 คน ในปี พ.ศ.2529 เป็นนักเรียน 2,419 คน ในปี พ.ศ. 2538  โรงเรียนสามารถรับนักเรียนได้ตามเป้าหมายของกรมสามัญศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2530 เป็นต้นมา

ดังนั้น ผอ.สายัณห์จึงมุ่งมั่นพัฒนาโรงเรียนในทุกด้าน เช่น มีการขยายตัวด้านบุคลากรจากครูและบุคลากร 29 คน ในปี พ.ศ. 2529 เป็นครูและบุคลากร 123 คน ในปี พ.ศ. 2538และมีการพัฒนาด้านกายภาพของโรงเรียนและด้านการเดินทางของนักเรียนด้วยเช่น การแก้ไขปัญหาสนามหน้าเสาธงน้ำท่วมขังโดยการปรบปรุงเป็นสนามคอนกรีต  สร้างอาคารชั่วคราว 4 ห้อง เต็นท์ 4 หลัง  อาคารมุงจาก 4 หลัง เพื่อเป็นอาคารเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนอาคารเรียน ในปี 2335 จนเป็น”โรงเรียนรีสอร์ทกลางกรุง” และได้รับคำชื่นชมจากดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น  จำนวนห้องเรียนและอาคารประกอบก็ไม่เพียงพอ  ประกอบกับอาคารเรียนหลังเก่าซึ่งเป็นอาคารไม้  2  ชั้น  ก็ชำรุดทรุดโทรมมาก  หากให้ใช้ต่อไปอาจจะเป็นอันตรายได้  ทางกรมฯ  จึงอนุญาตให้รื้อถอนและตั้งงบประมาณให้สร้างอาคารประชุมชั้นเดียว  2  ล้านเศษ  ทางโรงเรียนเห็นว่าจะไม่เหมาะสมกับสภาพที่ดินที่มีอยู่และจำนวนนักเรียนที่กำลังขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ผอ.สายัณห์ จึงนำเรื่องนี้ไปขอคำปรึกษากับท่านอาจารย์บรรจง  พงศ์ศาสตร์  ผู้อำนวยการกองการมัธยมศึกษา  ในฐานะประธานคณะกรรมการวางแผน  โครงการให้ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษาทางด้านวิชาการ  ท่านจึงมีความเห็นว่าน่าจะสร้างเป็นอาคารเรียนแบบเบ็ดเสร็จ 

          และได้ปรึกษา อาจารย์กมล  ธิโสภา  รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา ซึ่งท่านก็ได้ช่วยให้แนะนำในการออกแบบแปลนต่างๆ  ให้เกิดประโยชน์ต่างการจัดการเรียนการสอนและการบริหารโรงเรียนในทุกๆ ด้านเป็นอย่างดียิ่ง  จากนั้นก็ได้รับความกรุณาจากอาจารย์ธานินทร์  รอดฮวย  สถาปนิกกรมสามัญศึกษาและอาจารย์ชวลิตร  วิจิตรพันธ์  วิศวกรกรมสามัญศึกษา  ในการออกแบบอาคารเรียนแบบพิเศษ  6  ชั้น  ซึ่งท่านอธิบดีกรมสามัญศึกษาในขณะนั้นคือ อาจารย์พะนอม  แก้วกำเนิด  ได้ให้ความเห็นชอบและเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสามารถเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย  เมื่อขอตั้งงบประมาณปี 2533  ไปยังสำนักงบประมาณ  ก็ได้รับความกรุณาจากท่านบดี จุณนานนท์  อย่างดียิ่งจนงบประมาณผ่านเข้าสภาและทางกรมฯ นำมาดำเนินการให้งบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบพิเศษ 6 ชั้น จำนวน 7,199,000 บาท แต่ไม่มี  ผู้มาประมูล  จึงต้องทำการเปลี่ยนแปลงราคาใหม่และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสัมมิทก่อสร้าง  ประมูลได้ในราคา 11,450,000 บาท  และผูกผันปีงบประมาณ 2535-2538  จำนวน 19 ล้านบาท  

ตลอดระยะเวลา  10  ปี  ที่โรงเรียนโพธิสารพิทยากร  ผอ.สายัณห์  รุ่งป่าสัก  ได้สานฝันสู่ความสำเร็จ จากมีอาคารไม้แบบอุดร  2  ชั้น  1  หลัง อาคาร  318ค.  1  หลัง  และจากหลังคาจากเป็นอาคารเรียนแบบพิเศษ  6  ชั้น  2  หลัง  และอาคารเอนกประสงค์  5  ชั้น  1  หลัง

มีอาคารเรียนแบบพิเศษ  6  ชั้น  มีดาดฟ้าเพิ่มขึ้น  1  หลัง  และได้รับงบประมาณปี  2536  ในการจัดสร้างอาคารเรียนแบบพิเศษ  6  ชั้น  มีดาดฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 1  หลัง  รวมเป็น  2  หลัง  ได้มีการจัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมภายในบริเวณโรงเรียนให้เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน  ในปี  2538  สร้างอาคารเอนกประสงค์  5  ชั้น  พร้อมทางเชื่อมราคาประมาณ  24,890,000  บาท 

จากการทำงานด้วยความมุ่งมั่น เสียสละอย่างต่อเนื่องความฝันของผอ.สายัณห์ ก็สำเร็จได้สร้างได้ทำทุกอย่างด้วยความบรรจง เอาใจใส่ รักและผูกพันโรงเรียนดุจเป็นบ้านของตนเอง สู้ทุกอย่างไม่เคยท้อเพื่อพัฒนาให้โรงเรียนเป็นบ้านที่น่าอยู่ ทุกคนในบ้านมีความสุข  ดังคำประพันธ์ที่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อให้ครูและนักเรียนทุกคน ได้มีจิตสำนึกรัก “บ้านโพธิสาร” ซึ่งเป็นโรงเรียนในฝันว่า

โพธิสารฯ       คือสถาน        บ้านความรู้

โพธิสารฯ       คือที่อยู่        แสนหรรษา

โพธิสารฯ       แหล่งอบรม  จริยา

โพธิสารฯ       สร้างคุณค่า    ชีวิตคน

 

จากความตั้งใจ และพัฒนาโรงเรียนในทุกด้านเพื่อให้โรงเรียนโพธิสารพิทยากรเป็นโรงเรียน         ที่ดี มีคุณภาพ เป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองศรัทธาส่งลูกหลานเข้ามาเรียน เป็นโรงเรียนดี เด่น ดัง ของฝั่งธนบุรี  ผอ. สายัณห์ รุ่งป่าสัก ได้เขียนกลอน “เพชรน้ำเอก” ไว้ให้นักเรียนได้รู้ถึงคุณค่าของโรงเรียน ผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทุกคนล้วน มุ่งมั่น ตั้งใจอบรม สั่งสอน พัฒนานักเรียนในทุกด้านเพื่อนักเรียน เป็นคนจริง คนกล้า คนเก่ง คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ไว้ว่า

โพธิสารฯ              คือสถาน         การศึกษา

สร้างคนจริง            สร้างคนกล้า     สร้างคนเก่ง

สร้างในคิด              สร้างในทำ       นำตนเอง

เป็นตัวเก็ง              เพชรน้ำเอก      ของฝั่งธน

ในปี 2530 ได้รับรางวัลชมเชยการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก

ในปี 2532 ได้รับรางวัลชมเชยการพัฒนาโรงเรียนขนาดกลาง และนักเรียนดีเด่น

ในปี 2533 ได้รับรางวัลโรงเรียนดีเด่น กรมสามัญศึกษา

เกียรติยศความภาคภูมิใจได้เกิดขึ้น รอยยิ้มและไมตรีแห่งความชื่นชมยินดีโปรยออกมาท่ามกลางคราบน้ำตาบนใบหน้าของครูและนักเรียนตัวน้อยๆ หน้าตาสดใส อิ่มเอิบ ความอัดอั้นตันใจเกิดขึ้น ความรู้สึกที่ว่าเหนื่อยแสนเหนื่อยใจแทบขาดได้หายไปจนสิ้น นี่คือความสุขจากการทำงานของผอ.สายัณห์ และบุคลากร ทุกคนซึ่งต่างได้ทำหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ทว่า...กว่าที่ฝันจะเป็นจริง ผอฺ. สายัณห์ได้เปรียบโรงเรียนเหมือนโรงละคร ซึ่งโรงละครโรงนี้ได้ถูกเขียนบทและกำกับไว้ว่า

หากจะเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นโรงละครและกำหนดแสดงของบุคลาการแต่ละฝ่ายให้แตกต่างกัน ดังนี้

          นักเรียน    มีหน้าที่ต้องเรียน ต้องประพฤติปฏิบัติตนตามกฎข้อบังคับของโรงเรียนและเชื่อฟังคำสอนของครู-อาจารย์         

          ครู-อาจารย์    มีหน้าที่ต้องสอนให้ความรู้และอบรมบ่มนิสัยนักเรียนให้เป็นคนดี ต้องประพฤติปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นที่ยอมรับและศรัทธาแก่สังคม

          ภารโรง      มีหน้าที่จ้องจัดบริการและอำนวยความสะดวกให้สามารถทำการเรียนการสอนได้ตามปกติ

          ผู้บริหาร    มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแล และสอดส่องให้บุคลากรทุกฝ่ายปฏิบัติตามหน้าที่ของตน

ขณะนี้เราทุกคนต่างมีหน้าที่แตกต่างกันตามบท ซึ่งทุกคนต้องทำการแสดงเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งแก่ท่านผู้ชมให้ได้ เราต้องมีความตระหนักและรับผิดชอบ เพื่อให้โรงละครนี้เป็นที่เชื่อมันศรัทธาของท่านผู้ชมต่อไปอีกนานแสนนานสมเป็น “เพชรน้ำเอก  ของฝั่งธน”

อัลบัมภาพ บรรยากาศในงาน

อัลบัม1

อัลบัม2

ภาพ/ข่าว : ธเนศ ไชยสุวรรณ

ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลประวัติโรงเรียนและอัลบัมภาพถ่ายเพิ่มเติม โดยโรงเรียนโพธิสารพิทยากร

email ผู้ดูแลเว็บไซต์ : [email protected]