เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ณ หอประชุมสุพรรณิการ์ โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1(สพม.1) กรุงเทพมหานคร นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิด กิจกรรม “สิงหาคม เดือนแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” “การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ (Historical Thinking) ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย”โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม และโรงเรียนในกลุ่มที่ 3 ของ สพม.1 ร่วมกิจกรรม กว่า100 คน ซึ่งได้รับเกียรติจากว่าที่ร้อยตรี อานนท์ สุขภาคกิจ ผอ.สพม.1 เป็นผู้กล่าวรายงาน
|
|
|
|
|
|
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าเนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2551 ห่วงใยการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับใส่เกล้าฯ นำไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยกำหนดให้สถานศึกษาทุกระดับให้ความสำคัญจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดเป็นวิชาประวัติศาสตร์ สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง
เพื่อแสดงถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและน้ำพระราชหฤทัยในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 กระทรวงศึกษาธิการได้แสดงความจงรักภักดีด้วยการกำหนดให้เดือนสิงหาคม เป็นเดือนแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดกิจกรรม “สิงหาคม เดือนแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙ “การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ (Historical Thinking) ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย”
![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() |
![]() |
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. โดย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาได้จัดทำเอกสาร แนวการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์แบบนักประวัติศาสตร์ (Historical Thinking) ผ่านการลงมือปฏิบัติกิจกรรม ที่มีเนื้อหาปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดความภูมิใจและรักชาติไทย ตามจุดเน้นการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ 5 หัวข้อ ได้แก่ 1) ความเป็นมาของชาติไทย 2) สัญลักษณ์ของชาติไทย 3) สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย 4) บรรพบุรุษไทย 5) วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย อีกทั้งการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยตามแนวการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย”นี้ ถือเป็นการพลิกโฉมการจัดการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ ที่เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้จากเอกสาร ตำรา หรือการท่องและจดจำตามคำบอกเล่าของครู เป็นการลงมือปฏิบัติกิจกรรมที่ผู้เรียนจะได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์แบบนักประวัติศาสตร์ (Historical Thinking) เช่น การสืบค้น สำรวจและรวบรวบข้อมูลหลักฐาน การอ่านข้อมูลหลักฐานอย่างพินิจพิเคราะห์ การตีความและวิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานตามขั้นตอนและวิธีการเชิงประวัติศาสตร์ การประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลหลักฐาน การอธิบายเหตุและปัจจัย เชื่อมโยงสถานการณ์ เพื่อเข้าใจพัฒนาการและความเสื่อมถอยจากบริบทในอดีต นำมาเป็นบทเรียนต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มอบนโยบายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาและโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา จำนวน ๗๘ โรง ใน ๗๗ จังหวัด ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่นี้ โดยจัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กว่า 9,000 คน ภายในเดือนสิงหาคม 2559 เรียบร้อยแล้ว ดั่งตัวอย่างโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 ได้ดำเนินการในวันนี้ (30 สิงหาคม 2559) ทั้งนี้ จะมีการขยายผลการจัดกิจกรรม “การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ (Historical Thinking) ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ให้แก่สถานศึกษาทั่วประเทศภายในปีงบประมาณ 2560
ขอขอบคุณข้อมูลจากศูนย์สารนิเทศการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.
ขอขอบคุณภาพจาก งานโสตน์ โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม สพม.1
*****************************************************************
ติดตามข่าวสารการศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ สพม.1 : https://www.facebook.com/groups/prsesao1